เริ่มแล้ว! กฎหมายจราจรปรับอัตราโทษใหม่ เจอจับปรับเป็นแสน!

ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนพึงระวัง! ล่าสุด (5 กันยายน 2565) รองโฆษกรัฐบาล ดร. รัชดา ธนาดิเรก ได้ย้ำว่า กฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการปรับและจำคุก

โดยเฉพาะการกระทำผิดซ้ำ และข้อหาเมาแล้วขับ ที่หากทำผิดครั้งแรกโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปีนับตั้งแต่กระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท นอกจากนี้ ศาลจะพิจารณาทั้งจำทั้งปรับเสมอทุกครั้ง

อัตราโทษใหม่การจราจรทางบกที่ควรรู้

อัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการสูญเสียของ ผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง มีการเพิ่มอัตราโทษปรับ ดังนี้

  • ขับรถเร็วเกินกำหนด, ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง, ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
  • ขับรถย้อนศร, ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  • เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ข้อหาเมาแล้วขับ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปีนับตั้งแต่กระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท นอกจากนี้ ศาลจะพิจารณาทั้งจำทั้งปรับเสมอทุกครั้ง และะถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาตการขับขี่

ข้อกำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย

รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้, สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอน ผู้โดยสารตอนหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยมีโทษเดิมอยู่ที่ปรับไม่เกิน 500 บาท

ข้อกำหนดการนั่งท้ายกระบะ

การนั่งท้ายกระบะสามารถทำได้โดยไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกินที่กำหนด

ที่นั่งนิรภัยหรือเบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคมนี้  ซึ่งที่นั่งนิรภัยนี้ ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำประกาศและลงประกาศให้ทราบในราชกิจจานุเบกษา

 

ติดตามข่าวสารและสาระเพิ่มเติมได้ที่นี่