ใกล้ถึงวันสำคัญอีกหนึ่งวันที่คนไทยเฝ้ารอคอยมานาน กับ การเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้ วันที่เราจะได้ใช้สิทธิ์ของตน เพื่อทำการเลือกคนที่มีคุณภาพเข้ามาบริหารบ้านเมือง พัฒนาและผลักดันให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทุกคน โดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้กำหนดวันเข้าคูหาหย่อนบัตรเลือกตั้ง 66 ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยเติ่มตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. บทความนี้จะมาชวนทำความรู้จักกับบัตรเลือกตั้งก่อนเข้าคูหา จะได้ไม่สับสนกับบัตรสองใบ
ทำไมต้องเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง คือ การเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนเรา โดยทำหน้าที่พื้นฐานของ ส.ส. ด้วยการไปร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ออกกฏหมาย ตรวจสอบรัฐบาลแทนเรา เราทุกคนจึงต้องไปทำการเลือกคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่และกระบอกเสียงแทนเรา
ถ้าหากไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิอะไร
กรณีที่ไม่ไปทำการเลือกตั้ง จะทำให้เสียสิทธิบางประการ ได้แก่
- สิทธิในการยื่นคำร้องการคัดค้านเลือกตั้ง ส.ส.
- สิทธิในการลงสมัครเลือกตั้งทางเมือง ส.ส. หรือ ส.ว. และในระดับท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา หรือ คณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คืออะไร
บัตร 2 ใบ คือ รูปแบบการลงคะแนนที่ให้ประชาชนได้เลือกผู้แทนราษฎร โดยความชอบในตัวบุคคลของ “ผู้สมัคร” และ “นโยบาย” ของพรรคการเมืองนั้น ๆ ซึ่งมีคนที่เลือกจากการใช้กระแสความนิยมของผู้สมัครในแต่ละหมายเลข หรือที่โลโก้ของพรรคการเมือง และการเลือกตั้งแบบใช้บัตร 2 ใบ เป็นการตอบโจทย์ต่อพรรคขนาดใหญ่ มากกว่า พรรคเล็ก ๆ
บัตรเลือกตั้ง 2 ใบต่างกันอย่างไร
- บัตรใบที่ 1 หรือ บัตรเลือกตั้งสีม่วง คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. เขตเลือกตั้ง (ทั่วประเทศ 400 เขต) มีหมายเลขผู้สมัคร และช่องสำหรับกากบาท แต่ไม่มีชื่อผู้สมัครและสัญลักษณ์ของพรรค
- บัตรใบที่ 2 หรือ บัตรเลือกตั้งสีเขียว คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิส) มีชื่อและสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง
ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง 2566
โดยรูปแบบบัตร 2 ใบ จะใช้ทั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 และวันเลือกตั้งจริงในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยยังไม่มีแจ้งการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ข้อควรระวังในการสับสนกาบัตร 2 ใบ
ต้องแยกและจำให้ดีว่า ระหว่าง หมายเลขผู้สมัคร และ หมายเลขพรรคไม่เหมือนกัน
- หมายเลขผู้สมัครในบัตรใบแรก (บัตรม่วง) ไม่เหมือน กับ หมายเลขของพรรค ในบัตรใบที่ 2
- ผู้สมัครเลือกตั้งจากพรรคเดียวกัน แต่ต่างเขตกัน ก็ต่างหมายเลข ไม่ใช่เบอร์เดียวกัน
ทำความเข้าใจและอย่าจำสับสน เพียงเท่านี้ก็เดินเข้าคูหา กาเบอร์คนที่ชอบ เลือกพรรคที่ใช่ ในวันเลือกตั้งกาไม่ผิด บัตรไม่เสีย และไม่เสียสิทธิของตน ให้สมกับที่รอคอยและห่างหายไปนานหลายปี!