พาย้อน ประวัติมวยไทยโบราณ (ย่อ)  

มวยไทย สืบทอดมาจาก มวยโบราณ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะการต่อสู้ของชาวอินเดียที่ย้ายอพยพ ย้ายถิ่นฐาน ลี้ภัยการเมือง มายังประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเอเชีย

มีชาวอินเดียที่เป็นระดับชั้นครูด้านศิลปหลายแขนงเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และได้เผยแพร่วัฒนธรรม ศาสตร์และศิลปของอินเดียหลากหลาย รวมไปถึงศิลปะการต่อสู้ ซึ่งได้มีการนำไปบรรจุในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์และผู้สึบราชวงศ์ มีหลายสำนักที่มีชื่อเสียงด้านศาสตร์ศิลปะการต่อสู้ โดยเฉพาะสำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี 

จากนั้นไทยก็ได้มีการนำไปประยุกต์ และดัดแปลงให้เข้ากับลักษณะการใช้งาน และความถนัดตามแบบฉบับของคนไทยตามแต่ละท้องถิ่นกันไป มีการดัดแปลงศิลปะการต่อสู้นำไปใช้ในกองทัพ เรียกว่า “เลิศฤทธิ์” ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยปัจจุบันที่้เป็นเกมกีฬาเสียมากกว่า โดยมีการสวม “นวม” เพื่อลดความอันตรายลงในขณะที่ทำการแข่งขันชกมวย เพราะสำหรับชาวต่างชาติ มวยไทย มีศักยภาพมากพอที่จะทำร้ายคู่ต่อสู้ให้ถึงตายได้ หากไม่มีอุปกรณ์การป้องกัน 

มวยไทยโบราณสามารถแบ่งออกได้หลายสายตามท้องถิ่น โดยมีสายหลัก ๆ ได้แก่ มวยพระนคร (ภาคกลาง) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยโคราช (ภาคอีสาน) และ มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปบ้าง แต่ยังคงใช้ศาสตร์มวยไทย ด้วยอาวุธทั้ง 9 คือ มือ 2 เท้า 2  เข่า 2 ศอก 2 และ ศีรษะ 1 เหมือนกัน  

เมล็ดพันธุ์ของศิลปะการต่อสู้ ที่อาจเรียกได้ว่า วัฒนธรรมร่วม

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ศิลปะการต่อสู้แล้วนำไปต่อยอดด้วยการพัฒนาจนกลายเป็น ศิลปะวัฒนธรรมประจำชาติ อย่าง มวยไทย ในประเทศเพื่่อนบ้านอย่าง มอญ พม่า ที่อยู่ใกล้กับอินเดีย ต่างก็ได้รับรูปแบบการต่อสู้มาจากอินเดีย หรือ กัมพูชา เอง ก็มีการต่อสู้ในรูปแบบที่เรียกว่า Bokator แปลว่า ทุบสิงโต หรือ การตำ ที่มีการรับอิทธิพลมาจากอินเดียเช่นกัน จึงไม่แปลกหากรูปแบบการต่อสู้จะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับ มวย ของ ไทย เพราะมีเมล็ดพันธุ์มาจากต้นเดียวกัน เพียงแต่ใครจะใส่ใจนำไปเพาะปลูก และพัฒนาให้ไปเป็นแบบฉบับของตนอย่างไร 

ทำไมการพัฒนามวยโบราณของไทยจึงแตกต่างจากเพื่อนบ้าน จน มวยไทย ดังทั่วโลก ทั้งที่เมล็ดพันธุ์มาจากที่เดียวกัน? 

ความแตกต่างการพัฒนามวยโบราณของไทย จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับ มวยไทย ได้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกนั้น อาจมาจากการสนับสนุนภายในสำนักราชวังมาทุกรัชสมัย จากที่ปรากฏเรื่องราวของมวยไทยในประวัติศาสตร์โดยย่อดังนี้ 

ประวัติมวยไทยแต่ละสมัย (ฉบับย่อ) 

ประวัติมวยไทยในสมัยสุโขทัย

หลักสูตรศิลปะการต่อสู้แบบอินเดียที่ได้มีการนำมาดัดแปลงจนเป็นแบบฉบับ มวยไทย ได้ถูกนำบรรจุไว้เป็นหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์และผู้สืบทอดในสมัยนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความแข็งแรงของร่างกาย และเรียนรู้วิชาการป้องกันตัว และเข้าทำลายคู่ต่อสู้ในระยะประชิดตัวเมื่อเข้าสู่สนามรบ ดังตามที่ปรากฏในพงศาวดาร พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงส่งโอรสไปฝึกมวยที่สำนักเขาสมอคอน 

ประวัติมวยไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มวยไทย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนยึดเป็นอาชีพกันอย่างแพร่หลาย และมีค่ายมวยเกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์ ทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดแข่งขันกีฬาชกมวยอย่างกว้างขวาง ซึ่งการชกมวยสมัยนี้ เรียกว่า “มวยคาดเชือก” ชกกันบนลานดิน ในขอบเขตเวทีที่่ใช้เชือกเพียงเส้นเดียวกั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  โดยที่มือของนักมวยจะถูกพันด้วยด้ายชุบแป้ง สวมมงคลไว้บนศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน ไม่กำหนดรูปร่าง อายุ และน้ำหนักคู่ชก ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย และกติกามีเพียง ชกกันจนกว่าจะมีฝ่ายยอมแพ้ 

ประวัติมวยไทยในสมัยกรุงธนบุรี

สมัยพระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราช และบ้านเมืองอยู่ในช่วงฟื้นฟู การฝึกมวยไทยในสมัยนี้จะเป็นการฝึกเพื่อใช้ในการต่อสู้อย่างแท้จริง เพราะจะใช้ในการฝึกทหารเพื่อนำไปใช้ในศึกสงคราม และช่วงพักรบหรือศึกสงบ จะมีการจัดแข่งชกมวยสำนักต่างถิ่น ไม่มีกฏกติกาบังคับใด ๆ ชกกันจนกวาจะมีฝ่ายใดยอมแพ้ โดยยังคงชกกันบนลานดิน คาดมงคลและผูกประเจียดที่แขน 

ประวัติมวยไทยสมัยรัตนโกสินทร์ 

พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ยังคงให้ความสำคัญกับการฝึกมวยไทย แม้ว่าจะเริ่มมีต่างชาติเข้ามาเผยแพร่วัฒนธรรมหลายอย่าง แตมวยไทยยังคงไม่เสื่อมหายไปไหน อย่างมีการจัดชกมวยระหว่างคนไทย คือ หมื่นผลาญ กับ นักมวยฝรั่งเศส ในรัชสมัยราชกาลที่ 1 โดยใช้สนามหลังวัดพระแก้วเป็นสังเวียนการแข่งขัน โดยรัชสมัยที่ได้ชื่อว่าเป็น ยุคทองของมวยไทย คือ รัชกาลที่ 5 และได้มีสนามมวยถาวรแห่งแรกที่จัดการแข่งขันมวยไทยเป็นประจำบนสนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบ แต่การนำหลักสากลมาใช้ในการแข่งกีฬาชกมวย โดยใช้เชือกกั้น 3 เส้น พื้นเวทีปูด้วยผ้าใบ มีมุมแดง มุมน้ำเงิน มีกรรมการและผู้ให้คะแนน และมีการนำระฆังมาใช้ในการให้เสียงสัญญาณ ในรัชกาลที่ 7 และในรัชกาลที่ 9 ได้มีการจัดตั้ง สนามมวยเวทีราชดำเนิน และจัดแข่งขันชกมวยโดยมีการถ่ายทอดให้ชมผ่านจอครั้งแรก 

สรุป

ในขณะที่เจ้าของเมล็ดพันธุ์ศิลปะแขนงการต่อสู้ตัวจริงอย่างอินเดียในปัจจุบัน ยังคงมีมวยโบราณให้เห็นอยู่บ้าง อาทิเช่น Kalaripayattu หรือ คาราริพายันธุ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีการใช้ หมัด ศอก เข่า เท้า เตะ ถึง ทุ่ม ทับ จับ หัก และ ใช้ศีรษะโขกคู่ต่อสู้ และได้เอ่ยปากชมคนไทยที่รู้จักนำไปพัฒนา ต่อยอดและรักษาไว้ จนกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทยที่ดังไกลไปทั่วโลกในขณะนี้

 

ติดตามข่าวสารและสาระจากทางเราเพิ่มเติมได้ที่นี่