ว่ายน้ำแล้วเป็นตะคริว อันตรายถึงชีวิต

swimmer with an ankle injury pain or accident by 2023 02 25 00 45 02 utc 1

ใครเคยเป็นตะคริวบ้างไหม? เชื่อว่าแทบทุกคนตอบว่า “เคย” เพราะ ตะคริว เกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา เช่น ขณะเดิน วิ่ง นั่ง หรือนอน ที่สร้างความรำคาญและความเจ็บปวดให้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

แต่บางช่วงเวลาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น การเป็นตะคริว ก็นับว่าเป็นอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ เช่น เป็นตะคริวตอนว่ายน้ำ เป็นต้น และเนื่องจากสามารถเกิดตะคริวได้หลายจุด ทั้งตะคริวท้อง ตะคริวขา ตะคริวแขน ฯลฯ จึงจำเป็นที่เราควรรู้สาเหตุการเกิดตะคริว เมื่อเป็นตะคริวแก้ยังไง เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาอาการตะคริวได้อย่างถูกต้อง และอาจช่วยลดการสูญเสียที่ไม่มีใครคาดคิดได้เช่นกัน 

ตะคริวเกิดจากอะไร 

ตะคริว ภาษาอังกฤษ Muscle cramps ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย และเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งตะคริว คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อหดเกร็งจนเกิดเป็นก้อนแข็ง และสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนโดยเฉพาะบริเวณน่องและขา จึงส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อจนไม่สามารถใช้งานอวัยวะบริเวณนั้นได้ช่วงขณะหนึ่ง โดยสาเหตุการเกิดตะคริวมีหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 

  • กล้ามเนื้อทำงานหนักมากเกินไป 
  • การทำงานของระบบประสาทผิดปกติขณะนอนหลับ 
  • ระบบไหลเวียนเลือดหยุดส่งไปยังกล้ามเนื้อบริเวณนั้นฉับพลัน 
  • ร่างกายมีภาวะผิดปกติ เช่น เป็นตะคริวขาดวิตามิน ขาดแคลเซียม หรือมีการติดเชื้อ เช่น บาดทะยัก (Tetanus) ซึ่งทำให้เกิดตะคริวและการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นต้น 
  • โรคบางชนิด เช่น โรคไต โรคตับ เป็นต้น 
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยาราโลซิฟีน ยาล้างไต ฯลฯ 
  • ผลข้างเคียงระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ตำแหน่งมดลูก มีถุงซีสต์ เป็นต้น 

อาการของตะคริว 

ผู้ที่เป็นตะคริว จะมีอาการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อในส่วนที่เกิดตะคริว อาจมีปวดเล็กน้อยหรือปวดมาก แต่จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และสามารถหายได้เองภายในเวลา 3-15 นาที แต่บางรายอาจมีอาการปวดเรื้อรัง หายเพียงชั่วครู่แล้วปวดซ้ำที่เดิม โดยอาจเป็นระยะเวลานานทั้งวัน  

เมื่อเป็นตะคริวแก้ยังไงดี 

เมื่อเป็นตะคริวจะสามารถหายได้เอง แต่เราก็สามารถบรรเทาอาการหรือช่วยให้ตะคริวหายเร็วขึ้นได้ ดังนี้ 

  • ยืดกล้ามเนื้อหรือนวดบริเวณที่เป็นตะคริว โดยสามารถนวดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น 
  • กรณีเป็นตะคริวระหว่างนอน ให้เปลี่ยนท่านอน และยืดขาตรง แล้วกระดกปลายเท้าประมาณ 5 วินาที ทำเช่นนี้ 5-10 รอบ จากนั้นนวดบริเวณที่เป็นตะคริวจนกว่าจะหาย 
  • สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่มีอาการตะคริวให้รีบแจ้งแพทย์ เพื่อจะได้ทำการวินิจฉัยและหาสาเหตุตะคริวเกิดจากอะไร วิธีแก้และรักษาให้เหมาะสม เพราะอาการตะคริวอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ 

female athlete injured on athletic run training 2022 12 09 04 46 41 utc 1

เป็นตะคริวระหว่างว่ายน้ำควรทำอย่างไร

แม้ว่าตะคริวเป็นแล้วสามารถหายได้เอง แต่ถ้าหากเป็นตะคริวระหว่างว่ายน้ำ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการจมน้ำสูง และถ้าว่ายน้ำคนเดียวก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นควรวอร์มอัพ ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเป็นการยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้เตรียมพร้อมก่อนว่ายน้ำ โดยเฉพาะส่วนขา เพราะเป็นอวัยวะส่วนสำคัญสำหรับการว่ายน้ำ ซึ่งท่าออกกำลังกายควรเน้นไปที่ขาและแขน เช่น ท่ายืดขาแบบโยคะ การหมุนหัวไหล่-แขน หรือวิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น 

เมื่อว่ายน้ำแล้วเป็นตะคริวจะต้อง “มีสติ” ก่อน แล้วพยายามลอยตัวบนผิวน้ำให้ได้ตลอดเวลา และรีบพาตัวเองไปยังที่น้ำตื้นที่สุด และทำต่อไปนี้ 

  • วิธีแก้ตะคริวที่น่อง ให้หงายตัวขึ้น แล้วใช้มือพยุงน้ำให้ตัวลอย และยกขาขึ้นเหนือน้ำเข้าหาใบหน้า
  • วิธีแก้ตะคริวหลังขาอ่อน ให้นอนคว่ำ แล้วพับข้อเท้าเข้าหาด้านหลัง 
  • วิธีแก้ตะคริวข้อเท้า นอนหงายแล้วให้เท้าอยู่บนผิวน้ำ จากนั้นนวดข้อเท้า หรือหมุนข้อเข้าเบา ๆ 

 อย่าตกใจหรือตื่นกลัว จะทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนเป็นอาจเป็นเหตุทำให้เราจมน้ำในที่สุด 

ทำไมควรงดทานอาหารก่อนว่ายน้ำ 

หากเป็นการทานขนมจุกจิกเพียงเล็กน้อยอาจไม่เป็นไร แต่การทานอาหารในปริมาณมากจะลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด เนื่องจากจะต้องมีการแบ่งส่วนระบบการไหลเวียนเลือดไปย่อยอาหาร ทำให้มีเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงระบบกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือขาดเลือดจนเป็นตะคริวได้  

วิธีป้องกันตะคริว

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ 
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์และมีแคลเซียม เช่น ปลา นม ผักตำลึง เป็นต้น 
  • สตรีมีครรภ์เน้นทานอาหารที่มีโปแตสเซียมและแมกนีเซียม เช่น ลูกเกด ผักโขม เป็นต้น 
  • ยืดเส้นคลายกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นโยคะให้กล้ามเนื้อได้มีความยืดหยุ่นอยู่ตลอด
  • งดทานอาหารก่อนออกกำลังกาย 
  • ผู้ที่มักเป็นตะคริวตอนนอน ควรนำหมอนรองขาให้สูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร 

เนื่องจากตะคริวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การที่เรารู้วิธีรับมือได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลด้านสุขภาพ เข่น การกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอที่ร่างกายต้องการ การได้รับวิตามินเสริมภูมิคุ้มกัน หรือวิธีการดูแลขณะที่เป็นตะคริวเพื่อช่วยบรรเทาอาการ นอกจากจะช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกายแล้ว ยังเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเป็นตะคริวด้วยเช่นกัน