สำหรับในประเทศไทย ได้มีการพบสารเร่งเนื้อแดง ชื่อทางเคมี คือ Salbutamol (ซาลบูทามอล) และ Clenbuterol (เคลนบิวเทอรอล) จัดอยู่ในกลุ่มสารเคมี Beta agonist (เบต้าอะโกนิสต์) ที่นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการโรคหอบ หืด เนื่องจากคุณสมบัติของเบต้าอะโกนิสต์ช่วยขยายหลอดลม และช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว ซึ่งเป็นสารประเภทอันตรายทางเคมี (Chemical hazard) และอันตรายในอาหาร (Food hazard) แต่มีชาวเกษตรกรกลุ่มผู้ทำฟาร์มสัตว์หลายรายนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปผสมในอาหารและน้ำให้กับสัตว์ในฟาร์ม เช่น สุกร หรือ วัว เพื่อเร่งปริมาณเนื้อแดงให้มีมากกว่าชั้นไขมันซึ่งทำให้ขายได้ราคาดีกว่า
ชาวเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและวัวเนื้อเริ่มนิยมใช้สารบีตาอะโกนิสต์เป็นสารเร่งเนื้อแดงในวัว เนื้อหมู และ เนื้อแกะตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในชื่อทางการค้าต่างกัน เช่น แมคโต – เอส , เลนดอล โดโซลบี และ แอมโปรฟีด บีดอล 2201 เป็นต้น ซึ่งการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซัลบูทามอล และเคลนบิวเทอรอลในเนื้อสัตว์ ทำให้มีสารตกค้างในเนื้อหมูและวัว จนส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภค
ผลของสารเร่งเนื้อแดงในหมู และสัตว์เลี้ยงเป็นอาหารอื่น ๆ
สัตว์ที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดง Beta agonist จะมีผลข้างเคียงทำให้สัตว์เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้น ทนต่อความร้อนได้น้อยลง มีภาวะความเครียดจากความร้อน (heat stress) และกล้ามเนื้อหัวใจตายในสัตว์บางชนิด
อาการของสัตว์ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง วิธีสังเกต
สัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะหมูหรือสุกร จะมีกล้ามนูนเด่นกว่าปกติ เช่น บริเวณสะโพก หัวไหล่ หรือ สันหลัง สุกรที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณสูงมาก ๆ จะมีอาการสั่นอยู่ตลอดเวลา
อันตรายจากสารเร่งเนื้อแดง
การบริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อแกะ หรือเนื้อหมูมีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง จะก่อให้เกิดอันตรายต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลม และ กระเพาะปัสสาวะ โดยผลข้างเคียงจากการได้รับสารเร่งเนื้อแดง อาการคลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น กระวนกระวาย ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ มีอาการทางจิตประสาท และยังเป็นอันตรายต่อหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง รวมไปถึงผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ และโรคลมชัก
สารเร่งเนื้อแดงพบในอาหารชนิดใดบ้าง
ส่วนใหญ่จะพบสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานเนื้อแดงมากกว่าเนื้อติดมัน โดยเนื้อสัตว์ที่พบสารเร่งเนื้อแดงมากที่สุด คือ เนื้อหมู ซึ่งจากการสุ่มตรวจตัวอย่างตลอดระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2555 – 2555) พบว่าในประเทศไทยมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสุกรเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่ากังวล
การใช้สารเร่งเนื้อแดงผิดกฏหมายไหม
ในประเทศต่าง ๆ ได้มีการห้ามใช้สารกลุ่ม Beta agonist ในเนื้อสัตว์สำหรับบริโภคโดยเด็ดขาด รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 พ.ศ.2546 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มบีตาอะโกนิสต์ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศ และหากตรวจพบสารดังกล่าว จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 มาตรา 6 (5) , 57