ผู้สูงวัย หรือ วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีความอ่อนไหวสูงทั้งในส่วนของร่างกายและจิตใจ จึงต้องการความใส่ใจในการดูแลเป็นพิเศษ วันนี้ทาง express-news-live ได้รวบรวม 10 แนวคิดการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อความสุขกายสบายใจของผู้สูงอายุและสมาชิกทุกคนในครอบครัว มีข้อไหนที่ทำแล้ว และมีข้อไหนที่อาจต้องเสริมเข้าไปกันบ้างนะ มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
- เลือกอาหารให้เหมาะสมต่อร่างกาย และพอดีต่อความต้องการ
เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ร่างกายของคนเราจะมีการใช้พลังงานน้อยลง เนื่องจากความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะลดอาหารบางกลุ่ม โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน รวมไปถึงอาหารทอด หรือเมนูผัดต่าง ๆ ที่ต้องใช้น้ำมัน เพื่อลดการสะสมจากการที่ร่างกายไม่ได้นำไปใช้งาน แต่ควรเน้นอาหารประเภทโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา และอาหารประเภท ต้ม อบ นึ่ง ย่าง แทน นอกจากนี้ ในวัยผู้สูงอายุมักจะขาดสารอาหารประเภทแคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ซึ่งพบมากในถั่วเหลือง ธัญพืช นม ผลไม้ ผักต่าง ๆ และควรให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำวันละ 6 – 8 แก้ว เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ให้ดีขึ้น ช่วยลดภาวะท้องผูก แต่ไม่ควรให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด เพราะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
- ควบคุมน้ำหนักผู้สูงอายุไม่ให้อ้วนเกินไป
คนส่วนใหญ่เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นง่ายแต่ลดลงยาก เนื่องจากการทำงานของระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายเสื่อมลง ทำให้อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จนนำพาไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวตีบ เป็นต้น ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักของผู้สูงอายุไม่ให้มากเกินไปจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงเช่นกัน
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและพอดี
ผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะต้องเหมาะสมต่อสภาพร่างกาย และในปริมาณที่พอดี ไม่หักโหม หรือมีท่าทางที่หนักเกินไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องทำการปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ เช่น การเต้นแอโรบิค การเดิน 30 นาที ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้ อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่แนะนำว่าให้ทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนเริ่มเต้นแอโรบิค หรือก่อนออกกำลังกายทุกชนิด หากเหนื่อยหรือรู้สึกไม่ดี ไม่ควรฝืน แต่ควรหยุดพัก หรือถ้ารู้สึกผิดปกติ ควรรีบพาพบแพทย์ทันที
- จัดสภาพแวดล้อมให้ดีและเหมาะสม
สภาพแวดล้อมที่ดีมีผลต่อสุขภาพทุกวัย สำหรับการจัดที่พักให้กับผู้สูงอายุ ควรให้มีอากาศถ่ายเท จะช่วยให้ฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้สูงวัยได้ผ่อนคลายมากกว่าในสถานที่คับแคบ แออัด หรืออับชื้น อาจพาท่านไปเดินเล่นสวนสาธารณะใกล้บ้าน หรือท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ จะช่วยให้ผู้สูงวัยรู้สึกผ่อนคลาย หรืออาจหาต้นไม้ฟอกอากาศมาปลูก นอกจากจะช่วยในเรื่องของสภาพอากาศแล้ว การปลูกต้นไม้อาจกลายเป็นงานอดิเรกให้กับผู้สูงอายุในบ้านได้อีกด้วย
- ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมพิเศษ
การที่ผู้สูงอายุมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งทำ จะช่วยลดความเครียด หรือความเหงาได้ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย โดยอาจเป็นกิจกรรมโปรดของท่าน เช่น ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย ร้องเพลง อ่านหนังสือ หรือมีกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัวในยามว่าง การที่ได้ทำกิจกรรมที่ชอบจะช่วยปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ ไม่ทำให้ท่านหงุดหงิดง่าย
- ดูแลเป็นพิเศษ อย่าให้เกิดอุบัติเหตุ
เนื่องจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่สะดวก หรือสายตาที่มองได้ไม่ชัดเจนดังเดิม ทำให้ผู้สูงอายุมักจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การพลัด ตก สะดุด ลื่นล้ม หากอุบัติเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้สูงวัย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดบาดเจ็บหนัก กระดูกหัก หรืออาจรุนแรงจนถึงล้มหมอนนอนเสื่อ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ดูแลควรใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก หมั่นตรวจความเรียบร้อยภายในบริเวณที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าให้บ้านรก หรือมีสิ่งกีดขวาง
- ดูแลเรื่องการใช้ยา หลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น
การใช้ยาในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรซื้อยามาให้ท่านเอง โดยไม่มีแพทย์สั่ง หรือผู้สูงอายุบางท่านไม่เข้าใจในเรื่องของยา แล้วไปจัดหาซื้อมาทานเอง หรือผู้สูงวัยบางรายมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ ทานยาผิดขนาด ผิดประเภท หรือทานยาหมดอายุ ยาขาดประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ผู้ดูแลจึงควรดูแลและคอยจัดยาให้ท่านทานยาอย่างเหมาะสม กรณีที่ผู้สูงอายุมียาประจำตัว ควรให้ทานต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง อย่าให้ขาดหรือละเลย
- หมั่นสังเกตความผิดปกติในร่างกายของผู้สูงอายุสม่ำเสมอ
สภาพร่างกายของผู้สูงอายุจะเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน ระบบการทำงานของร่างกายจึงไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันลดลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุอ่อนแอและเจ็บป่วยจากสารพัดโรคได้ง่าย จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น การกลืนอาหารลำบาก อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืดเรื้อรัง เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก แผลหายช้า คลำแล้วพบก้อน เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
- ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
คนส่วนใหญ่เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น จะรู้สึกว่าคุณค่าและบทบาทของตนเองน้อยลง จนอาจทำให้ถูกละเลยความสำคัญ จนผู้สูงอายุมีความน้อยใจ ทุกข์ใจ หรือมีภาวะซึมเศร้า ดังนั้น คนในครอบครัวควรให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ปรึกษา สอบถามความคิดเห็นในบางเรื่อง เพื่อให้ท่านรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง
- ตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะในวัยชรา ควรตรวจสุขภาพทุกปี หรืออย่างน้อยทุก 2 ปี เพื่อได้พบความผิดปกติได้เร็ว และสามารถดูแลรักษาสุขภาพได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงต่อระยะการเกิดโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคมะเร็ง เป็นต้น
เมื่อผู้สูงอายุอันเป็นที่รักของคนในครอบครัวมีความสุขกายสบายใจ ย่อมสร้างความสุขแก่สมาชิกทุกคนภายในบ้าน การดูแลเอาใจใส่ทั้งในส่วนสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม