15 คำถามเกี่ยวกับการกินยาแก้แพ้

1. ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงมีหรือไม่?

  • มี ซึ่งจะเป็นยาแก้แพ้รุ่นสอง ที่พัฒนามาจากยาแก้แพ้รุ่นแรก ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง ได้แก่ เซทิริซีน (Cetirizine), ลอราทาดีน (Loratadine), เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine), เฟโซเฟนาดีน (Fexofenadine), และ เดสลอราทาดีน (Desloratadine)

2.ยาแก้แพ้แบบง่วง และแบบไม่ง่วงต่างกันอย่างไร?

  • ยาแก้แพ้แบบง่วง หรือยาแก้แพ้รุ่นแรก ตัวยาจะถูกดูดผ่านเข้าสู่สมอง และไปกดระบบประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงนอน หลังจากที่ได้ทานยาเข้า ไป โดยตัวยาจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการแพ้รวดเร็วภายในครึ่งชั่วโมง แต่ก็จะหมดฤทธิ์เร็วด้วย ผู้ป่วยหรือผู้มีอาการแพ้จึงต้องทานยา 2-3 ครั้ง 
  • ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง แทบจะไม่ถูกดูดซึมไปยังส่วนสมองส่วนกลางได้ เมื่อทานยาเข้าไป จึงไม่มีอาการง่วงนอน หรือมึนงง สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงนี้จะช่วยบรรเทาเกี่ยวกับภูมิแพ้เท่านั้น แต่จะไม่มีผลต่อการบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้ และในขณะที่ทานเพียง 1 ครั้ง แต่สามารถออกฤทธิ์ได้นานเกือบ 24 ชั่วโมง

3.ยาภูมิแพ้ราคาเท่าไหร่?

  • ราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ยี่ห้อ ปริมาณ และรูปแบบการใช้งาน ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงก็จะมีราคาสูงกว่ายาแก้แพ้แบบง่วง ราคาของยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้ทั่วไป จะมีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย หรืออาจถึงหลักพันบาท สามารถสอบถามกับเภสัชกรได้โดยตรง

4.ยาแก้แพ้ออกฤทธิ์อย่างไร?

  • ยาแก้แพ้จะเข้าไปยับยั้งตัวรับสารฮิสตามีนที่หลั่งออกมา เพื่อไม่ให้ไปกระตุ้นร่างกายแสดงอาการแพ้ต่างๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ผื่นขึ้น มีลมพิษ แน่นหน้าอก ฯลฯ 

5.ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองคือยาอะไร?

  • ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง คือ ยาแก้แพ้รุ่นดั้งเดิม ซึ่งมีตัวยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือที่เรียกว่าคลอเฟน (CPM) ใช้รักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น การเป็นภูมิแพ้อากาศ มีน้ำมูกจากหวัด คนที่เป็นภูมิแพ้ลมพิษ มีผื่นคัน แต่เมื่อทานไปแล้วอาจเกิดอาการง่วงนอน ซึม มึนศีรษะ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาแก้แพ้

6.ยาแก้แพ้กินตอนไหน?

  • ยาแก้แพ้ส่วนใหญ่จะรับประทานหลังอาหาร เพื่อไม่ให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่ทั้งนี้ก็ต้องอ่านฉลากกำกับยา หรือปรึกษาวิธีใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยา 

7. กินยาแก้แพ้แทนยานอนหลับได้หรือไม่?

  • ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้แทนยานอนหลับ เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดความเคยชิน และต้องพึ่งยาเพื่อให้หลับในครั้งต่อๆไป และเป็นการใช้ยาที่ผิดวัตถุประสงค์ ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการนอนไม่หลับ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง 

8.กินยาแก้แพ้บ่อยๆ อันตรายไหม?

  • แม้ว่ายาแก้แพ้จะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ไม่ควรรับประทานมาเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงสะสม ยิ่งทานยาแก้แพ้แบบง่วงในปริมาณมาก จะทำให้ตัวบวม ปัสสาวะคั่ง ท้องผูก ปากแห้ง คอแห้ง และถ้ารับประทานยาแก้แพ้ติดต่อกันไปนานๆ โดยเฉพาะชนิดที่ทำให้ง่วง จะส่งผลต่อความดันลูกตาหรือเกิดต้อหินได้

9.ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาสามารถกินยาแก้แพ้ได้ไหม?

  • หากอาการแพ้ยาไม่ได้เกิดจากตัวยาที่เป็นส่วนผสมของยาแก้แพ้นั้นๆ ก็สามารถทานได้ แต่ควรทำการปรึกษาแพทย์ หรืออยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ และไม่ควรซื้อยาแก้แพ้ทานเอง หากไม่เคยทานยาตัวนั้นมาก่อน 

10.มีอาการแพ้ยาจะสามารถกินยาแก้แพ้ได้ไหม?

  • เนื่องจากยาแก้แพ้สามารถใช้บรรเทาอาการแพ้ที่เกิดจากการแพ้ยาได้ จึงสามารถทานยาแก้แพ้ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อได้รับคำแนะนำแก้แพ้เพิ่มเติม

11.กินยาแก้แพ้แล้วง่วงควรทำอย่างไร?

  • สามารถเลือกใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงแทนยาแก้แพ้แบบเดิมที่ทำให้ง่วงได้ เช่น เซทิริซีน หรือ ลอราทาดีน โดยแจ้งกับเภสัชกรได้ว่าต้องการยาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วง

12.ยาแก้แพ้มีกี่แบบและมีอะไรบ้าง?

  • รูปแบบของยาแก้แพ้ มี 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ 

(1) ยาแก้แพ้แบบเม็ด สำหรับรับประทาน สามารถใช้ได้ทั้งเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นแก้แพ้เม็ดเล็กๆสีเหลือง ซึ่งเป็นตัวยาคลอเฟนิรามีน ยี่ห้อคลอเฟ (Chlophe) ช่วยบรรเทาอาการแพ้และช่วยลดน้ำมูก และยาแก้แพ้สีอื่นๆ เช่น  ยาแก้แพ้ Allernix เป็นยาแก้แพ้เม็ดสีขาวชนิดไม่ทำให้ง่วง ยาแก้แพ้ Dormirax 25 เป็นยาแก้แพ้เม็ดสีฟ้าชนิดที่ทำให้ง่วง

(2) ยาแก้แพ้แบบน้ำ ยาแก้แพ้แบบน้ำมักจะใช้กับเด็ก ตั้งแต่เด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จึงมีลักษณะเป็นยาแก้แพ้น้ำเชื่อม เพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น เช่น ยา Chlorphen Syrup 

(3) ยาแก้แพ้แบบฉีด ยาแก้แพ้แบบฉีด (EpiPen) เป็นตัวยา Epinephrine อยู่ในกระบอกฉีดอัตโนมัติ เหมาะกับการใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) จนอาจเสียชีวิตได้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ลิ้นบวมปากบวม มีลมพิษขึ้นทั้งตัว อาเจียนร่วมกับท้องเสียรุนแรง หากมีอาการเหล่านี้ แม้อาจจะไม้รุนแรงมาก แต่ก็สามารถใช้ EpiPen แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที (ยาภูมิแพ้ EpiPen จะถูกสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ หลังจากที่แพทย์ได้วินิจฉัยโรค หรือหลังจากที่ผู้ป่วยเข้าทำการทดสอบโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรง) 

(4) วัคซีนภูมิแพ้ วัคซีนภูมิแพ้ไม่ใช่ตัวยา แต่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษาอาการภูมิแพ้ ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสารภูมิแพ้ขึ้นมา โดยเริ่มในปริมาณน้อยๆ จากนั้นค่อยเพิ่มปริมาณจนถึงที่ร่างกายของผู้รับวัคซีนสามารถรับได้ เมื่อร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาจนสามารถทนต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ อาการแพ้ก็จะน้อยลง หรืออาจแทบจะเป็นการรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาดได้เลยสำหรับผู้ป่วยบางราย

13.ปริมาณที่เหมาะสมในการใช้ยาภูมิแพ้เท่าไร? 

  • การใช้ยาแก้แพ้ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้แพ้อากาศ ยาภูมิแพ้ขึ้นตา หรือยาภูมิแพ้ผิวหนัง ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น ถ้าเป็นยาชนิดทาน ส่วนใหญ่ก็จะทานหลังอาหาร ปริมาณจะขึ้นอยู่กับชนิดตัวยา และอายุของป่วย ซึ่งจะต้องอ่านจากฉลากกำกับยา หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนทาน เช่น สำหรับผู้ใหญ่ ในการทานยา Cetirizine ควรทานวันละครั้ง ในปริมาณ 5-10 มิลลิกรัม หรือยา Dimenhydrinate ทานครั้งละ 50-100 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง 

14.ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับยาแก้ภูมิแพ้มีอะไรบ้าง?

  • ไม่ควรใช้กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทร่วมกับยาภูมิแพ้ เช่น Amitriptyline Tranylcypromine Nifedipine Guanethidine และทุกรายการยาที่เป็นยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ยากันชัก ยาลดความดัน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีตัวยาแก้แพ้อื่นๆผสมอยู่ เพราะกลุ่มยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้มีอาการง่วง ซึม เมื่อรับประทานร่วมกันก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการเหล่านี้จนอาจทำให้เกิดอันตรายได้

15.วิธีเก็บรักษายาแก้แพ้ทำอย่างไร

  • การเก็บรักษายาแก้แพ้ไว้ได้นานจนกว่าจะหมดอายุ ควรเก็บไว้ในที่แห้ง ในอุณหภูมิห้อง อย่าเก็บไว้ในที่มีแสงแดดส่องถึง หรือที่มีความร้อนและชื้น เพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ