Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

หลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ กำลังประสบกับภัยธรรมชาติ ที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรง และเกิดขึ้นทั่วทุกทวีป โดยไม่จำกัดรูปแบบ

ทั้งแผ่นดินไหว คลื่นความร้อน ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม เช่นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ปากีสถาน ซัดพัดพาโรงแรมหรู บ้านเรือน และผู้คน ไปกับสายน้ำ น้ำท่วมที่เกาหลีใต้จนมีผู้ที่อาศัยแบบ Parasite (ที่หนังเสียดสีสังคมนำไปทำในชื่อเรื่อง ชนชั้นปรสิต) เสียชีวิตยกครัว หรือแม้แต่ในหลายๆจังหวัดของไทยเอง ที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัย ปริมาณมวลน้ำหลากที่มากจนเขื่อนรองรับไม่ไหว และได้ปริแตกทำให้น้ำไหลทะลักจนต้องมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพ

ไม่เพียงแค่ภัยทางน้ำ แต่ภัยแล้งก็ไม่น้อยหน้า เมื่อคลื่นความร้อนรุนแรงแผ่ปกคลุมหลายภูมิภาคของจีน ทำให้ระดับแม่น้ำแยงซีลดลง จนสามารถเห็นพระพุทธรูปโบราณที่อาจมีอายุราว 600 ปี โผล่กลางแม่น้ำ รวมไปถึงฐานขององค์พระใหญ่เล่อซาน หนึ่งในมรดกโลกยูเนสโก (UNESCO) ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน แม้แต่รัซเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ก็ประสบภัยแล้งรุนแรง น้ำในแม่น้ำอุทยานไดโนซอร์ วัลเลย์ สเตท พาร์ค แห้งลง จนเผยให้เห็นรอยเท้า 3 นิ้ว ของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำมานานหลายทศวรรษ และอีกหลายแห่งที่กำลังเจอกับกฏธรรมชาติในขณะนี้ 

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งหมด ล้วนมาจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า Climate Change ซึ่งมันคือสัญญาณเตือนมนุษย์ ว่าธรรมชาติถูกมนุษย์ย่ำยีมามาก โดยไม่เคยจะปรับปรุง และกลับใจหันมาดูแลธรรมชาติ และธรรมชาติก็เคยส่งสัญญาณเตือนมานับครั้งไม่ถ้วน แต่มีเพียงแค่กลุ่มคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สนใจรับฟังและลุกขึ้นมาลงมือทำ แต่มันก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีกลุ่มคนจำนวนมากกว่าหลายพันเท่า ที่ยังคงไม่สนใจ และยังคงทำร้ายโลกนี้ต่อไป จนเมื่อโลกเกินจะรับไหว และอาจต้องรีเซ็ตกันใหม่ เป็นการทำความสะอาดโลก เหมือนที่เราปัดกวาดสิ่งสกปรกและทำความสะอาดบ้านนั่นล่ะ 

Climate Change คืออะไร? 

โดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นไปอย่างช้าๆ และใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง แต่ Climate Change คือ อากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิมอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าปกติ อันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) การใช้วัสดุย่อยสลายยาก การเผาขยะ การทำการเกษตร ฟาร์มปศุสัตว์ การใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเกินที่จำเป็น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ทั้งในรูปแบบโรงงาน ยานพาหนะ หรือการสร้างขยะ หรือแม้แต่ขยะเศษอาหาร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มความเข้มข้นให้กับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) หรือ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วนี้ มีผลต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ ก็จะตายและสูญพันธุ์ไปในที่สุด ในพื้นที่พบกับภัยแล้งจะส่งผลให้มนุษย์ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ในขณะที่อีกหลายแห่งประสบภัยน้ำท่วม อันเนื่องมาจากฝนตกหนักรุนแรง มีการสะสมปริมาณน้ำฝน และถ้าหากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลโดยตรงกับพื้นที่ชายฝั่งทะเล และอาจทำให้บางพื้นที่จมหายไปอย่างถาวร

น้ำแข็งขั้วโลกและบนยอดเขาสูงละลาย ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบโดยตรง อาจทำให้บางพื้นที่จมหายไปอย่างถาวร ดังนั้น ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นปัญหาสำคัญที่มวลมนุษยชาติจะต้องร่วมมือกันป้องกันและเสริมสร้างความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวว่าทุกประเทศควรร่วมมือในการช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นสูงเกิน 1.5 – 2.0 C ํ ภายในปี 2050 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ “Carbon Neutral” ซึ่งนั่นหมายความว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับอัตราการดูดกลับจะต้องมีส่วนเท่ากัน หรือโดยรวมแล้วเป็น “0” นั่นเอง

การที่ก๊าซเรือนกระจกจะสามารถลดลง และกลายเป็นศูนย์ได้นั้น ต้องมีการร่วมมือกันทั้งในภาครัฐฯ และประชากรโลกทุกคน ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ที่บ้าน ลดการใช้พลังงานฟุ่มเฟือย การทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร ลดการสร้างขยะ เปลี่ยนมาใช้วัสดุย่อยสลายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้สิ่งของแบบหมุนเวียน การแยกขยะ (เพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมันชีวภาพ) การเพิ่มพื้นที่สีเขียว อาจเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวสำหรับสมาชิกในบ้าน การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสีขาว ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนส่วนใหญ่ล้วนแต่รู้ดี แต่ยังขาดการให้ความร่วมมืออยู่มาก ดังนั้น หากทุกคนร่วมมือกันตั้งแต่ตอนนี้ แม้ว่าจะสายไปบ้าง แต่ก็ยังนับว่าช่วยโลกได้ทัน ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรให้เราได้ลงมืออีกเลย