ไพโรไลซิส นวัตกรรมเปลี่ยนขยะให้เป็นน้ำมันชีวภาพ

เมื่อปัญหาขยะพลาสติกไม่ได้เป็นเพียงขยะ..แต่เป็นปัญหาระดับโลก!!

ถุงพลาสติกที่เราใช้เพียงไม่กี่นาทีแล้วก็โยนมันทิ้งไป เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาขยะล้นประเทศ ทำให้มีขยะจากถุงและขวดพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งข้ามพ้นปัญหาระดับประเทศแต่ก้าวไปสู่ระดับโลก แต่แล้วนวัตกรรมเทคโนโลยี Pyrolysis ก็ได้ช่วยเปลี่ยนขยะพลาสติกแปรรูปเป็นน้ำมัน สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าเพียงใช้แค่ครั้งเดียวแล้วทิ้งไปเป็นเศษซากกองขยะที่ไร้ค่า

เปลี่ยนพลาสติกให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันทางเลือก เป็นน้ำมันจากขยะพลาสติก จะไม่เป็นเพียงขยะที่ไม่มีทางกำจัดหรือหาทางออกไม่ได้อีกต่อไป และการใช้วิธีเเยกขยะให้ตรงตามประเภทที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อจะได้เป็น Zero Waste อย่างยั่งยืน 

การจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกอาจไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันยังมีอีกวิธีคัดแยกขยะพลาสติกจำพวกขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ออกจากขยะทั่วไป แล้วส่งไป ณ ที่ศูนย์กสิกรรมท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีคุณเอก ยุทธการ มากพันธุ์ เป็นผู้คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันด้วยขยะจากขวดพลาสติกแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผ่านกระบวนการไพโรไลซิส

Pyrolysis มาจากคำว่า Pyro ที่แปลว่า “ไฟ” และ Hidrolysis ที่หมายถึง “น้ำมัน” ดังนั้น Pyrolysis จึงหมายถึง การอบพลาสติกให้เป็นน้ำมัน ไพโรไลซิสจึงเป็นนวัตกรรมที่ช่วยขจัดปัญหามลภาวะที่เกิดจากขยะพลาสติกนั่นเอง 

ไพโรพลาสติก เป็นการกำจัดพลาสติกขยะที่ย่อยสลายได้ยากด้วยอุณหภูมิที่สูงมาก เพราะพลาสติกเมื่อนำไฟเผาจะมีการละลายและเกิดสารพิษ ทั้งไดออกซินและออกซิเจน ที่ส่งผลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม การเผาไหม้ที่จะไม่ให้เกิดพิษจะต้องใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 400-1,200 องศาเซลเซียสขึ้นไป จึงจะไม่มีสารประกอบหลงเหลือ แต่จะได้น้ำมันดิบเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน 

“น้ำมันไพโรไลซิส” มาจากการนำพลาสติกเข้าสู่การผ่านความร้อนสูงโดยไร้ออกซิเจน เพราะการเผาไหม้จะทำให้เกิดการติดไฟและสารอันตราย ดังนั้นจึงต้องทำการอบความร้อนในระบบปิดที่ไร้อากาศ โดยวิธีการนี้จะไม่ทำให้พลาสติกติดไฟ แต่จะช่วยเร่งให้เกิดปฏิกิริยากับพลาสติกให้ละลายจนเป็นไอแล้วเข้าสู่กระบวนการกลั่นจนเป็นน้ำมัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นพลาสติกนั่นเอง

น้ำมันที่ได้จากวิธีไพโรไลซิสเป็นน้ำมันดิบแบบเบา ซึ่งจะมีความเบากว่าน้ำมันสำเร็จรูปทั่วไป แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เทียบเคียงกับเบนซินหรือดีเซล โดยคุณยุทธการได้นำน้ำมันไพโรไลซิสให้กับทางวัดนำไปไว้ใช้เผาศพแทนน้ำมันดีเซล นำไปใช้ทางด้านการเกษตรกรรมและวิชาชีพ เช่น ใช้ในการเผาเซรามิค หรืองานในฟาร์ม จะได้ยืดอายุการใช้น้ำมันดีเซลไว้ใช้ประโยชน์ด้านอื่น และเป็นการเซฟพลังงานที่ต้องใช้ผลิตน้ำมันดีเซลขึ้นใหม่ 

พลังที่สะอาดจากน้ำมันที่สะอาดก็ต้องมาจากพลาสติกที่สะอาดเช่นกัน พลาสติกที่เป็นวัตถุดิบในการทำน้ำมันมีสกปรกเจือปน น้ำมันที่ได้ก็จะมีสิ่งเจือปนไม่เป็นน้ำมันที่สะอาดพอ ถ้าจะพูดง่ายๆให้เห็นภาพ หากใช้ถุงพลาสติกแล้วทิ้งถังขยะมันก็จะเป็นขยะที่ไร้ค่า อาจนำกลับมาใช้งานได้อีกแต่อาจไม่เต็ม100% 

แน่นอนว่าการทิ้งขยะมันง่ายแต่มันจะย้อนกลับมาทำร้ายเราในอีกไม่ช้า แต่ถ้าเสียเวลาสักนิดในการทำความสะอาดและคัดแยกพลาสติกออกจากขยะประเภทอื่นแล้วนำไปขายก็จะมีรายได้และยังช่วยโลกในคราวเดียวกัน หรือส่งไปบริจาคให้กับโรงงานกลั่นน้ำมันไพโรไลซิส เป็นการกำจัดขยะที่สร้างประโยชน์ได้มหาศาล เพราะนอกจากเป็นการลดปริมาณขยะ ช่วยรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการทำบุญได้อีกด้วย เพราะน้ำมันที่ได้นี้จะถูกนำไปให้กับทางวัดได้ใช้เผาศพไร้ญาติ ช่วยลดภาระค่าน้ำมันเผาศพให้กับทางวัดได้อีกด้วย 

โดยคุณยุทธการรับบริจาคขยะพลาสติกที่ผ่านการทำความสะอาด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันแล้วส่งต่อให้กับทางวัดได้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยผ่านทางพระสงฆ์และวัดเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากโดยนิสัยพื้นเพของคนไทยจะมีนิสัยเอื้อเฟื้อ ประกอบกับให้ความเชื่อมั่นในทางศาสนา จึงเป็นการทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าหากจะมีการบริจาคผ่านทางวัดเป็นทางเชื่อมกลาง และก็ได้รับร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากทางวัดและประชาชน

นอกจากนี้ทางศูนย์กสิกรรมท่ามะขามยังมีการให้องค์ความรู้กับประชาชนทั่วไปในการทำความเข้าใจในการสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติก อย่างเช่นการนำมาทำเป็นน้ำมันที่เทียบเท่าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลรอบต่ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การใช้น้ำมันไพโรไลซิสในการเผาเครื่องเซรามิค 1 ใบ ใช้เชื้อเพลิงจากถุงพลาสติก 3,000 ถุง ดังนั้นหากต้องการเผาเครื่องเซรามิค 3,000 ใบ จะต้องใช้ถุงขยะพลาสติก 3,000,000 ใบ เป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกได้จำนวนมหาศาล 

นวัตกรรมไพโรไลซิสไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับจากขยะให้เป็นสิ่งที่มีค่า แต่ยังเป็นการยกระดับจิตใจให้คนมีการหันมาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และไม่ใช่เพียงคุณยุทธการเท่านั้นที่นำขยะพลาสติกมาแปรรูปให้เกิดคุณค่า แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ได้มีการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีไพโรไลซิสเช่นกัน 

โดยเราจะกล่าวถึงต้นแบบโรงงานผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกด้วยกระบวนการไพโรไลซิส สำนักวิชาชีวมวล คณวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา ได้ทำการวิจัยและศึกษาเทคโนโลยีในการกำจัดขยะอย่างครบวงจรจนประสบความสำเร็จ ล่าสุดได้มีการกำจัดขยะพลาสติกจำพวกขยะถุงพลาสติกและขยะขวดพลาสติกภายในมหาวิทยาลัยมาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกว่า ไพโรไลซิสพลาสติก โดยได้ริเริ่มจากที่เมื่อปีพ.ศ.2549 ได้มีการนำเทคโนโลยีมาบำบัดขยะด้วยวิธีเชิงกลและแบบชีวภาพเพื่อย่อยอินทรีย์วัตถุที่มีในขยะมูลฝอย นำกลับมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์และปรับปรุงคุณภาพดินได้อีก 

ต่อมาได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาต่อยอดในการสร้างโรงงานเพื่อแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน ด้วยการใช้ความร้อนสูงที่ปราศจากออกซิเจนเพื่อให้พลาสติกสลายตัวกลายเป็นน้ำมัน โดยขยะพลาสติก 6,000 กิโลกรัม สามารถแปรรูปผลิตเป็นน้ำมันได้ถึงวันละ 4,000-5,000 ลิตร/วัน โดยการนำเชื้อเพลิงระบบ RDF-3 จากระบบ MBT ของมหาวิทยาลัย มาเปลี่ยนเป็นรูปเชื้อเพลิง RDF-5 มาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งการทำงานของระบบคือ เชื้อเพลิงพลาสติก RDF-5 จะถูกลำเลียงเข้าเตาไพโรไลซิส ให้ได้รับความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 350-400 องศาเซลเซียส ถ่ายเทความร้อนให้ทั่วเชื้อเพลิงพลาสติก เปลี่ยนสถานะของแข็งให้กลายเป็นไอ และใช้น้ำเป็นตัวหล่อเย็นเพื่อให้เกิดการควบแน่น จะได้น้ำมันเชื้อเพลิงผสม ที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเตาหรืออาจส่งไปทำการกลั่นแยกส่วนเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเบนซินและดีเซล 

ปัจจุบัน มทส.กำลังพัฒนาต้นแบบโรงงานกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติกให้เป็นในรูปแบบเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการใช้เป็นน้ำมันสำเร็จรูปกับรถยนต์ได้ต่อไป 

เป็นการเพิ่มมูลค่าพลังงานได้มากกว่าการกลบฝังพลาสติกซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายนานที่สุด ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายเอง 450-500 ปี และยังเป็นการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการแยกขยะคือสิ่งสำคัญที่ช่วยลดปริมาณขยะ ลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ และยังช่วยลดการนำ

เข้าพลังงานจากต่างประเทศในอนาคตได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด 

พลาสติกส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากน้ำมัน กระบวนการไพโรไลซิสพลาสติกจึงเป็นการนำย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าเพียงแค่น้ำมันเตาเท่านั้น เช่น เป็นน้ำมันสำหรับรถยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสารผสมสีทินเนอร์ สารประกอบเชิงอุตสาหกรรม เป็นต้น นับได้ว่าเป็นการเพิ่มคุณค่าขยะพลาสติกได้อย่างมหาศาล หากให้ความร่วมมือกันทุกครัวเรือนและในทุกภาคส่วน ใช้วิธีแยกขยะก่อนส่งต่อให้โรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิล นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะพลาสติกได้อย่างคุ้มค่าแล้ว แต่ยังจะทำให้เรามีน้ำมันใช้ไปได้อีกนานแสนนานก่อนที่จะไม่เหลือทรัพยากรถึงรุ่นต่อไป 

และหากใครคิดว่าไม่มีวันนั้น วันที่น้ำมันปิโตเลียมหมดโลก วันที่น้ำแห้งขอดจนดินแตกระแหงไปทุกหย่อมหญ้า วันที่ต้นไม้ไม่เหลือสักต้น … ผิดแล้ว… ทุกสิ่งย่อมมีวันหมดสิ้น ถ้าไม่มีการรักษาและถนอมเพื่อดำรงไว้ แต่กลับกัน เราจะมีใช้ได้ไปตลอด หากลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย และนำสิ่งที่ใช้ไปแล้วกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่มากกว่าเป็นขยะที่ไร้ค่า และย้อนกลับมาทำร้ายเราในที่สุด ดังนั้นการแยกขยะจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะนำกลับมารีไซเคิล และเป็นอีกวิธีที่ดีต่อระบบนิเวศภาพรวมทั้งหมดที่เราควรหันมาใส่ใจและช่วยกันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไปกว่านี้

 

ติดตามข่าวสารและสาระเพิ่มเติมได้ที่นี่