ระวัง! สายลุย Camping เข้าป่า อาจเสี่ยงโรค Scrub Typhus อันตรายถึงชีวิต

ใกล้หน้าหนาว ช่วงเวลาแห่งการท่องเที่ยว ซึ่งหลายคนจะเตรียมตัวไปปะทะกับลมหนาวให้สะใจ โดยเฉพาะการไปแคมป์ นอนเต้นท์ แอ่วป่าเหนือ ในขณะเดียวกัน แพทย์ได้ออกมาเตือนให้ระวังสายแคมป์ทั้งหลาย ให้เที่ยวอย่างระมัดระวังเมื่อเดินทางไปยังจุดกางเต็นท์ต่าง ๆ เนื่องจากช่วงปลายฝนต้นหนาวมักจะพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Orientia tsutsugamushi จากการถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัด และป่วยเป็นโรค Scrub Typhus เพิ่มขึ้น

Scrub Typhus คือโรคอะไร 

Scrub Typhus หรือ โรคสครับไทฟัส คือ โรคไข้รากสาดใหญ่ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Rickettsia และมี ตัวไรอ่อน คือพาหะนำโรค ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นคัน หรือผื่นแดงคล้ายรอยบุหรี่จี้ ปวดตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งโรคสครับไทฟัสแพร่ระบาดในเขตชนบทแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รวมไปถึง ออสเตรเลียเหนือ 

Scrub Typhus อาการเป็นอย่างไร 

อาการโรคไข้รากสาดใหญ่ (Scrub Typhus) มักจะเกิดขึ้นหลังจากโดนตัวไรอ่อนกัดประมาณ 10 วัน โดยอาจมีอาการดังนี้ 

  • ปวดศีรษะ
  • หนาวสั่น
  • ไอ คลื่นไส้ อาเจียน 
  • มีไข้สูง ประมาณ 40 C ํ หรือมากกว่า
  • ปวดกระบอกตา 
  • ปวดท้อง
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • มีผื่นแดงนูน หรือแผลคล้ายบุหรี่จี้ 
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม กดแล้วเจ็บ 
  • มีอาการสับสนจนอาจถึงขั้นมีอาการโคม่า 

ภาวะแทรกซ้อนโรค Scrub Typhus 

จากการเฝ้าระวังโรคสครับไทฟัส ควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อนจนเสี่ยงต่ออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนี้ 

  • โรคตับอักเสบ 
  • ปอดอักเสบ
  • เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ 
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • ก้อนเลือดแข็งตัว 
  • การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว 

สาเหตุของโรคสครับไทฟัสคือะไร

โรค Scrub Typhus สาเหตุจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียโอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ (Orientia tsutsugamushi) ซึ่งอยู่ในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) โดยมีตัวไรอ่อน (Chigger) เป็นพาหะนำเชื้อ ด้วยการกัดผิวหนัง ซึ่งตัวไรอ่อนจะมีขนาดเล็กมากจนแทบจะมองไม่เห็นหากไม่สังเกต มักจะพบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะบริเวณป่าปิด ป่าละเมาะ อาศัยอยู่ตามใบไม้ ทุ่งหญ้า พุ่มไม้ บริเวณที่มีความชื้นแต่ไม่เปียกแฉะ และมักจะพบการติดเชื้อได้มากในช่วงหน้าฝน หรือปลายฝนต้นหนาว ที่มักจะมีนักท่องเที่ยวเข้าป่า ตั้งแคมป์ พวกไรอ่อนเหล่านี้ก็จะเกาะติดไปตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนัง บริเวณที่มักถูกกัด คือ บริเวณตามข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว และจะมีอาการโรคไทฟัส ระยะฟักตัวประมาณ 10-12 วัน 

วิธีการป้องกันโรค Scrub Typhus 

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีน Scrub Typhus ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกันความเสี่ยงของการติดเชื้อ คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือถูกตัวไรอ่อนกัด ดังต่อไปนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวรที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม เช่น ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ชายป่า ต้นไม้ใหญ่หรือพุ่มหญ้าที่แสงแดดส่องไม่ถึง 
  • ใช้สารป้องกันแมลงที่มีสาร DEET เป็นส่วนประกอบประมาณ 20-30% และทายากันยุง 
  • สำหรับคนที่ใช้ครีมกันแดด ให้ทาครีมกันแดดก่อน จากนั้นค่อยทาหรือฉีดพ่นสารไล่แมลง

การป้องกันตัวไรอ่อนสำหรับเด็ก 

  • ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิด หรือคลุมรถเข็นเด็กและเตียงนอนด้วยมุ้งกันยุง
  • ห้ามใช้สารไล่แมลงกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน 
  • ห้ามใช้สารไล่แมลงกับบริเวณใบหน้า มือ และผิวหนังบอบบาง แต่ให้ผู้ปกครองพ่นสเปรย์ลงบนมือตนแล้วค่อยทาไปที่ใบหน้าเด็ก 
  • ใช้สารเพอร์เมทริน (มีฤทธิ์ฆ่าตัวไรอ่อน) ลงบนเสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตั้งแคมป์ต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ภายใต้คำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้กับผิวหนังโดยตรง 

สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังจากกลับออกมาจากพื้นที่เสี่ยง

  • ทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม 
  • ซักเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดที่สวมใส่และที่นำติดตัวไปใช้ด้วยผงซักฟอกเข้มข้น 
  • หากมีอาการไข้และอาการข้างต้นที่กล่าวมาภายใน 2 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว และป้องกันการเสียชีวิต 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422