วันคุ้มครองโลก Earth Day

United Nations Environment Program (UNEP) หรือ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็น วันคุ้มครองโลก ภาษาอังกฤษ คือ Earth Day

สาเหตุของการกำหนดวันคุ้มครองโลกคืออะไร

“วันคุ้มครองโลก” เดิมทีเป็นแนวคิดริเริ่มของ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อประชาชนในสหรัฐอเมริกากว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันมารวมตัวชุมนุม ในวันที่ 22 เมษายน 2513 เพื่อประท้วงเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้น ส่งผลต่อมลภาวะที่เพิ่มขึ้นตามมา ผลจากการชุมนุมของชาวอเมริกันนี้เอง จึงก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา มีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น และกำหนดให้ทุกวันที่ 22 เมษายนเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ “Earth Day” โดยเริ่มจากวันที่ 22 เม.ย.2513 เป็นการเริ่มต้นตั้งแต่นั้นมา 

ปีแรกของการสถาปนาวันคุ้มครองโลก รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศกฏหมายอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Act) ต่อด้วย กฏหมายน้ำสะอาด (Clean Water Act of 1972) และกฎหมายสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act of 1973) ด้วยกฏหมายเหล่านี้ ที่ส่งผลเชื่อมโยงต่อบทบัญญัติ บังคับให้รถยนต์ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว กำหนดระยะทางการวิ่งที่สัมพันธ์กับน้ำมัน 1 แกลลอน มีการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือแม้แต่การมีเครื่องฟอกไอเสีย สำหรับช่วยลดปริมาณควันพิษจากท่อไอเสียรถ

วันคุ้มครองโลกในประเทศไทย 

วันคุ้มครองโลกในประเทศไทย เริ่มมีการตื่นตัวเมื่อปี 2533 หลังจากที่ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม เสียงปืน 1 นัด ที่ปลุกจิตสำนึกให้กับผู้คน ช่วยชีวิตสัตว์ได้อีกหลายชีวิต เมื่อเหล่าคณะอาจารย์และนักศึกษา 16 สถาบัน ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้น เพื่อรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงวิกฤติการทำลายป่าไม้และสัตว์ป่า และให้เห็นความสำคัญของผืนป่าในประเทศไทย รวมถึงมีการจัดงานเพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร เพื่อใช้ในการปกป้องรักษาผืนป่า เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ที่ สืบ นาคะเสถียรได้เพียรพยามมาโดยตลอดเมื่อยังมีชีวิตอยู่  

จึงถือได้ว่า วันที่ 22 เมษายน ของทุกๆ ปี ที่กำหนดให้เป็นวันคุ้มครองโลก คือวันที่เราจะได้มีโอกาสรำลึกและใส่ใจถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่จริงแล้ว เราทุกคนควรจะใส่ใจและทำให้เป็นปกติในทุกๆวัน เพราะโลกของเราเริ่มเข้าสู่สภาวะวิกฤติทางธรรมชาติ ที่ผิดปกติและมีความแปรปรวนขึ้นทุกวัน แต่อย่างไรก็ตาม วันที่ 22 เมษายน ก็ถือว่าเป็นวันคุ้มครองโลกอย่างเป็นทางการทั่วโลก เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำชาติในแต่ละประเทศ แต่ก็จะมีการจัดกิจกรรมในองค์กร และสถาบันต่างๆ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในด้านสิ่งแวดล้อมแก่คนทั้งประเทศ  

เป้าหมายของการกำหนดวันคุ้มครองโลกสากล 

  • เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าที่เหลืออยู่ ให้คงมีความอุดมสมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด 
  • เพื่อหยุดการซื้อ-ขายสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 
  • เพื่อลดปริมาณและอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
  • เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ตัวก่อให้เกิดการสะสมความร้อนและตัวทำลายโอโซน
  • เพื่อกระตุ้นในการสร้างจิตสำนึกให้กับคนทั่วโลก 
  • รักษาความสมดุลประชากรกับทรัพยากรธรรมชาติที่มี 
  • เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่างๆทั่วโลก ร่วมกันปกป้องสภาพภูมิอากาศให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์ 

มีเมือง 5 แห่ง ที่ประกาศถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดขยะและมลพิษกันบ้างดีกว่า ไปดูกันว่ามีเมืองอะไรบ้าง 

แวนคูเวอร์

เมืองแวนคูเวอร์ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ขึ้นชื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ซึ่งที่นี่ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีการใช้แอป TapMap ในการดูตำแหน่งจุดบริการน้ำดื่มสาธารณะ มีเครือข่ายเลนจักรยานที่ขยายตัวขึ้นจากถนน 10th Avenue โดยแวนคูเวอร์วางแผนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 33 และยังมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้เพิ่มให้ได้มากกว่า 100,000 ต้น

ซานฟรานซิสโก

เมืองซานฟรานซิสโก เมืองแห่งนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และยังเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำอย่าง Google และ Facebook ซึ่งซานฟรานซิสโกเองได้ประกาศว่ามีการส่งขยะร้อยละ 80 ของเมืองนี้ ไปรีไซเคิลแทนการนำไปทิ้งที่กองขยะ จึงนับได้ว่าที่นี่เป็นเมืองแห่งการกำจัดขยะที่ยั่งยืนอันดับต้นๆของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว ไม่เพียงแค่นั้น มีอาคารหลายร้อยแห่งที่เบย์แอเรีย (Bay Area) ได้รับการรับรอง ให้เป็นผู้นำด้านพลังงานและการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (LEED : Leadership in Energy and Environmental Design) เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่ที่เบย์แอเรีย มุ่งเน้นการผลิตพลังงานด้วยตนเอง นอกจากนี้ ผู้คนที่เมืองนี้นิยมการเพาะปลูกในท้องถิ่น และรักในการทานอาหารมังสวิรัต 

นิวยอร์ก ซิตี้

เมืองเล็กๆที่มีขนาดเพียง 22.7 ตารางไมล์ ในเกาะแมนแฮนตัน แต่กลับมีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกือบ 2 ล้านคน ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการจัดการระบบความเป็นอยู่ ด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก ซิตี้ ได้อย่างยั่งยืน 

จำนวนคนกว่า 1.5 ล้านคน ใช้บริการรถไฟใต้ดินในการเดินทาง ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำมาก หากเทียบกับเมืองอื่นๆ และด้วยเมืองนิวยอร์ก เป็นเมืองแห่งตึกสูงจำนวนมาก ทำให้มีการใช้พื้นที่น้อย และผู้คนใช้ทรัพยากรร่วมกัน จึงช่วยให้มีการใช้พลังงานที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งที่นี่มีองค์กร ที่คอยดำเนินการอนุรักษ์และระบบการจัดการน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การควบคุมมลพิษทางอากาศ และการฟื้นฟูกู้คืนทรัพยากร ที่สามารถจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลจริงต่อพลเมือง 

สิงคโปร์

ประเทศเกาะเล็กๆ แต่กลับเป็นเมืองนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ และศูนย์รวมของสถาปัตยกรรมล้ำยุค และมีจุดเด่นที่เป็นแลนด์มารค์ ใครได้ไปสิงคโปร์ จะต้องถ่ายรูปเสมอ คือ Gardens By the Bay (การ์เด้น บาย เดอะ เบย์) ที่ตั้งของสถาปัตยกรรมหอสูง ที่ออกแบบให้เป็นรูปต้นไม้ยักษ์ ท่ามกลางพื้นที่สีเขียว ที่นี่เป็นแหล่งสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเก็บไว้ใช้ทดแทนในยามค่ำคืน และยังเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้มีการขยายวงกว้างไปทั่วทั้งเมือง โดยมีการใช้แผงเซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ และ ระบบอนุรักษ์น้ำ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่า เป็นต้นแบบที่หลายๆประเทศต้องศึกษาและนำเป็นแบบอย่าง 

โซล

เมืองแห่งผู้นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของโลก เมืองที่นำระบบเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และระบบผังเมืองได้อย่างชาญฉลาด จากการที่โซลได้มีการให้แบ่งปันข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับระบบผังเมืองทางอินเตอร์เน็ต เพื่อให้คนได้นำมาใช้ประโยชน์ อย่างการอัพเดทข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะแบบเรียลไทน์ ทำให้สามารถเช็คเวลาที่คนใช้งานขนส่งสาธารณะ ช่วงเวลาใดคนใช้เป็นจำนวนมาก ช่วงเวลาใดเหมาะสมในการใช้บริการ และพวกเขายังตรวจสอบจำนวนครั้งในการใช้รถไฟของตนเองได้ด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้คนในเมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และส่งผลดีต่อการจัดการทรัพยากรให้ดีขึ้นอีกด้วย 

แม้ว่าวันคุ้มครองโลกจะถูกกำหนดคือวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี แต่การตื่นตัวและให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และทรัยพากรธรรมชาติ ควรมีและลงมือทำในทุกๆวัน เพราะเพียงแค่ 1 วัน ในแต่ละปี คงไม่พอและไม่ทัน ต่อการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรโลกที่มีอยู่อย่างจำกัดเข้าไปทุกที เนื่องจากการทำลาย การใช้อย่างไม่เคยพอ และจำนวนมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น จนเริ่มจะมีประชากรโลกมากกว่าทรัพยากร และหากเราไม่เริ่มช่วยกันคนละไม้คนละมือตั้งแต่วันนี้ เราคงไม่เหลือทรัพยากรธรรมชาติให้ได้อาศัยอีกต่อไป และเมื่อธรรมชาติไม่มี มนุษย์ก็คงสูญสิ้นเช่นกัน